เมตาโบลิกซินโดรมหรือซินโดรมเอ็กซ์(Syndrome X) หรือโรคอ้วนลงพุง เป็นอาการของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเผาผลาญอาหารภายในร่างกายนั่นเอง เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง โรคความจำเสื่อม ฯลฯ
เกณฑ์การตัดสินว่าคุณเป็นโรคอ้วนลงพุงหรือไม่คือ เส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน(ผู้ชายมากกว่า 90 เซนติเมตร ผู้หญิงมากกว่า 80 เซนติเมตร) ความดันโลหิตมีค่ามากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท มีไขมันดี(HDL คอลเรสเตอรอล) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย และ น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงขึ้นคือ ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
เมตาโบลิกซินโดรม อาจเรียกอีกอย่างว่า อาการดื้อต่ออินซูลิน ฮอร์โมนอินซูลินคือตัวที่นำน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการย่อยอาหารเข้าสู่เซลล์เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ถ้าร่างกายดื้อต่ออินซูลินจะทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสะสมและสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้การดื้อต่ออินซูลินยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองตีบอีกด้วย แม้ว่าคน ๆ นั้นจะไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็ตาม
การป้องกันและรักษาเมตาโบลิกซินโดรมหรือโรคอ้วนลงพุง ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันการเพิ่มของน้ำหนักตัวและช่วยให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรออกกำลังกายให้ได้วันละ 30 นาที โดยการเดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิค การควบคุมคุณภาพและปริมาณของคาร์โบไฮเดรตเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคอ้วนลงพุง พลังงานประมาณ 40-50 เปอร์เซนต์จากคาร์โบไฮเดรตควรมาจากธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ พลังงานอีก 40 เปอร์เซนต์ควรได้จากไขมันดีจากปลาและพืชเช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา พลังงานที่เหลืออีก 10 -20 เปอร์เซ็นต์ ควรมาจากโปรตีนไขมันต่ำ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
เมตาโบลิกซินโดรมหรือโรคอ้วนลงพุง เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายเช่นโรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ก็สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ด้วยการควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต ออกกำลังกาย อย่าปล่อยให้เส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น