วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคหัวใจ ภัยเงียบที่อันตรายต่อสุขภาพแต่ป้องกันได้

ในแต่ละปีโรคหัวใจได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะความเข้าที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างประมาทไม่ระมัดระวังที่จะดูแลรักษาสุขภาพตนเอง จึงทำให้โรคหัวใจกลายเป็นปัญหาสุขภาพทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคหัวใจและคอยดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

สาเหตุของโรคหัวใจที่แท้จริงคือ เกิดจากหลอดเลือดตีบตัน ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งโรคหัวใจเริ่มเกิดได้ทุกช่วงของชีวิต เริ่มจากการที่เราละเลยไม่ใส่ใจที่จะดูแลสุขภาพตนเอง นั่นคือจุดเริ่มของโรคหัวใจ ซึ่งช่วงเริ่มแรกอาการของโรคหัวใจจะสังเกตได้ยาก ผู้ที่เริ่มเป็นโรคหัวใจในช่วงแรก ๆ อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการของไข้หวัด การปวดกล้ามเนื้อ เป็นลมธรรมดา นั่นคือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างมากเพราะกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจก็มักจะถึงขั้นที่โรคหัวใจแสดงอาการออกมาอย่างเด่นชัด ซึ่งตอนนั้นอาจจะสายเกินที่จะแก้ไขแล้วก็ได้

การตรวจวัดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ตัววัดพื้นฐานคือ ระดับคลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ส่วนตัววัดที่ดีกว่านั้นคือ ระดับโฮโมซิสเตอีนในเลือด ซึ่งสามารถบอกความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้แม้จะมีระดับคลอเรสเตอรอลต่ำก็ตาม ควรงดอาหาร 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจ เพื่อดูระดับไขมันทุกตัวคือ คลอเรสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ เอชดีแอล(HDL คลอเรสเตอรอลที่ดี) แอลดีแอล(LDL คลอเรสเตอรอลที่ไม่ดี) และอัตราส่วนของคลอเรสเตอรอลรวมต่อเอชดีแอล การติดตามตรวจระดับไขมันในเลือดทุกปีหรือบ่อยกว่านั้นจะเป็นสิ่งที่คอยเตือนว่า คุณมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากน้อยขนาดไหน

โรคหัวใจ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะเริ่มเป็นอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเราไม่ระมัดระวังดูแลสุขภาพ ไขมันจะเริ่มสะสมในหลอดเลือดแดงและจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นจนในที่สุดก็จะแสดงอาการออกมา แต่ถ้าเรามีการดูแลตัวเองโดยระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน หมั่นออกกำลังกายและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจไปได้มาก แต่ที่สำคัญคืออย่าประมาทเป็นอันขาดเพราะโรคหัวใจนั้นขอแค่กำเริบขึ้นมาครั้งเดียวเท่านั้นก็อันตรายเกินพอแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น