สาเหตุของการปวดศีรษะมีได้หลายประการ
1. มีความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง
2. มีความผิดปกตินอกเนื้อสมอง เช่น โพรงจมูกอักเสบ, หูอักเสบ, สายตาผิดปกติ
3. มีความตึงเครียดทางอารมณ์
ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการปวด อาการปวดศีรษะที่พบบ่อยและควรทราบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ
1. ปวดศีรษะไมเกรน (Headaches, Migrain) มีลักษณะเฉพาะคือปวดศีรษะข้างเดียวอย่าง รุนแรง มักจะเริ่มปวดรอบ ๆ ลูกตาก่อน (ส่วนน้อยปวดทั้งสองข้างพร้อมกัน) ลักษณะการปวดจะปวดตุบ ๆ แปลบ ๆ เป็นระยะ ๆ ก่อนเกิดอาการปวดจะมีอาการนำมาก่อนประมาณ 10 - 30 นาที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน งุนงง วิงเวียน เห็นภาพซ้อน ตาไวต่อแสง พูดลำบาก (บางครั้งการอาเจียนทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น)
สาเหตุการปวดศีรษะแบบไมเกรนยังไม่ทราบแน่นอน มีผู้ศึกษาพบว่าเกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองของเส้นเลือดที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้มีการหดตัวและขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณดังกล่าว จึงเกิดอาการปวดศีรษะขึ้นและพบว่า 70 % ของผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนเป็นหญิง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนและการมีประจำเดือน
ปัจจัยอื่น ๆ กรรมพันธุ์มีความสำคัญมาก การมีประวัติปวดศีรษะในครอบครัว อาหารที่มีสารปรุงแต่งของผงชูรส สารกันบูด อาหารรมควัน ตับไก่ พืชตระกูลส้ม มะนาว ชอคโกแลต เนยแข็ง ไวน์แดง กลิ่นคาว ๆ แสงจ้า ๆ และเสียงดัง เป็นต้น
2. ปวดศีรษะจากอารมณ์และความเครียด (Headeches, tension) อาจเกิดจากการใช้ความคิด มีปัญหาซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ เพื่อนร่วมงาน ปัญหาทางเพศ การทำงาน การสอน
ลักษณะการปวด จะปวดตื้อ ๆ เหมือนมีผ้ามาบีบรัด หรือมีผ้ามาโพกรอบศีรษะ ขมับท้ายทอย รอบ ๆ กระบอกตา อาจจะปวดตรงด้านหน้าลงมาตามกล้ามเนื้อท้ายทอย อาการปวดมักจะเป็นตอนบ่าย หลังจากทำงานมาเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่ปวดศีรษะประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่มีความมุ่งหวังในความสำเร็จสูง ขี้อาย กลัว เป็นต้น
3. การปวดศีรษะรุนแรงแบบเกาะกลุ่ม (Headeches, cluster) เป็นอาการปวดที่รุนแรงจะปวดข้างเดียวหลังลูกตา อาการปวดจะปวดนานเป็นวัน เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนหรือนานกว่านี้ หรืออาจเกิดอาการปวด 10 ครั้ง ใน 1 วันก็ได้ มักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิงพบได้ในช่วงอายุ 20 - 30 ปี อาการปวดบางครั้งอาจเกิดขึ้นกลางดึกได้ แพทย์บางท่านเชื่อว่าการปวดศีรษะชนิดนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ แผลในกระเพาะอาหาร เบาหวาน
4. ปวดศีรษะจากความดันเลือดสูง ลักษณะการปวดจะปวดแบบมึน ๆ ตื้อ ๆ ตลอดเวลา จะเป็นมากเวลาตื่นนอนกลางวัน อาการปวดจะทุเลาลงหรือปวดขณะไอ จาม เบ่งอุจจาระ เพราะจะทำให้ความดันในกระโหลกศีรษะสูงขึ้นชั่วคราว ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาเจียนร่วมด้วย อาจมีตามัวก่อนวัย ตำแหน่งที่ปวดคือบริเวณท้ายทอย
5. ปวดศีรษะเนื่องจากสายตาผิดปกติ ลักษณะการปวดจะปวดมากเวลาใช้สายตามองไกลหรือมองใกล้ไม่ชัด ปวดข้างเดียวตื้อ ๆ รุนแรง ตาแดง ตาพร่ามัว ตำแหน่งที่ปวดคือ บริเวณกระบอกตา หน้าผาก และขมับ เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป เช่น อ่านหนังสือนาน ๆ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ต้อหิน
วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น